วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย (2)

ตอนที่แล้วได้พูดถึงกาพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย 1-2 ขวบไปแล้ว ฉบับนี้มาดูเรื่องของเด็กปฐมวัยช่วง 3-4 ขวบกันต่อเลยค่ะ
พัฒนาการของเด็กอายุ 3-4 ขวบ
ด้านร่างกาย
เด็กผู้ชาย ส่วนสูง 96-114 ซม./ น้ำหนัก 13.5-20.5 ก.ก.
เด็กผู้หญิง ส่วนสูง 94-114 ซม./ น้ำหนัก 13-20 ก.ก.
การพูด
ก่อนหน้านี้เด็กจะใช้ความรู้สึกในการแลกเปลี่ยนหรือเรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการ แต่ต่อไปนี้ เขาจะต้องหันมาใช้ภาษากับคนอื่นๆ แทน เด็กในวัยนี้จะเข้าใจว่า คนในโลกส่วนใหญ่ใช้คำพูด เป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ใช้การออกท่าออกทาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการ ในทางภาษาสำหรับเด็ก
ในช่วงนี้ เด็กจะเริ่มรู้จักคำเช่น "แหลม หรือคม" หรือ "ร้อน" แต่การพูดยังขาดการเน้นเสียง และยังปะปนในเรื่องภาษากับประสบการณ์ที่ตนได้รับ
หรืออย่างการเข้าใจความหมายของคำว่า ข้างบน-ข้างล่าง, ข้างหน้า-ข้างหลัง, นำหน้า-ตามหลัง, ข้างหน้านั้น-ข้างหลังนั้น เพราะเด็กได้เรียนรู้มาจากการคลาน การโยนสิ่งของออกไป การมองกลับมาข้างหลัง การเดินไปข้างหน้า หรือการเล่นซ่อนหา โดยไม่ได้ใช้ความรู้สึก แต่เป็นการใช้ร่างกาย
เข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน เช่น การกางมือกางแขนออกทำเป็นยักษ์ตัวใหญ่ หรือทำตัวหดเล็ก เหมือนหนูตัวเล็กๆ รู้จักปิดประตูเสียงดังหรือปิดอย่างแผ่วเบา เด็กจะรู้จักการเรียกชื่อและนามสกุลของตัวเอง เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้
รู้จักคำพูดแสดงพหูพจน์ เพราะเด็กมีประสบการณ์กับของที่มีปริมาณมากขึ้น เช่น แท่งไม้หลายอัน แท่งไม้สองสามอัน ในช่วงนี้เด็กจะรู้จักการปฏิบัติตามอย่าง เช่น การหมุนประตู เราต้องจับที่ลูกบิดประตู แล้วหมุนเป็นวงกลมแล้วปิด-เปิดประตูได้
รู้จักการเรียบเรียงประโยค และมีความแตกฉานทางภาษามากขึ้น โดยที่เด็กจะเลียนแบบ การใช้ภาษาจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ โดยที่เด็กจะเลียนแบบการใช้ภาษาจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ หากพ่อแม่ใช้ภาษาที่ถูกต้องไพเราะ ลูกก็จะพูดได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถ้าพูดจาสบถสาบาน ด่าพ่อล่อแม่จนติดปาก เขาก็จะจดจำไปใช้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะต้องพูดภาษาที่สมบูรณ์แบบ เหมือนภาษาเขียนเป๊ะ แต่ควรจะใช้สรรพนาม กริยา คุณศัพท์ ฯลฯ ให้ถูกต้อง เพื่อลูกจะได้คุ้นและเข้าใจง่าย
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเด็กเล็กๆ ที่กำลังย่างเข้าสู่พัฒนาการด้านภาษา โดยเฉพาะเด็กวัย 2 ขวบครึ่ง ถึง 4 ขวบ อาจจะพูดไม่ค่อยออกและมักจะเงียบ ซึ่งอาจเป็นเพราะความคิดของเด็กเร็วกว่าความสามารถ ในการใช้คำศัพท์ แต่พ่อแม่ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินเหตุ อาการเช่นนี้จะหายไป เมื่อสมองส่วนที่ใช้บังคับการพูดเติบโตและพัฒนาเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่อย่าพยายามเร่งรัดอาการเงียบของลูก เพราะอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนเงียบตลอดไปก็ได้
การอ่าน
เด็ก 3-4 ขวบ พร้อมแล้วที่จะเรียนการอ่าน โดยจะแสดงสัญญาณของความพร้อมนี้ออกมา ให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เขาจะรักหนังสือ ดีใจที่ได้หยิบจับและดูรูปในหนังสือ เขาจะถามถึงความหมาย ของสัญลักษณ์ สลาก หรือป้ายต่างๆ เขาอยากจะเขียนชื่อตัวเอง สนใจรูปภาพ และมีคำพูดแปลกๆ ใหม่มากเกินกว่าที่จะจดจำได้
ความชอบหนังสือนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะได้รับการกระตุ้นเพียงน้อยก็ตาม ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่ควรสอนให้ลูกอ่านหนังสือ หรืออ่านให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เพราะการสอนให้ลูกอ่านหนังสือก่อนนอน จะช่วยให้เขาได้พักผ่อนและอยากเข้านอนด้วยความสุข และยังเป็นการสร้างนิสัยการคุยกันอย่างสันติ ซึ่งจะหาโอกาสอย่างนี้ได้ยากมากหากลูกพ้นวัยนี้ไปแล้ว
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกซื้อหนังสือของตนเองเมื่อมีโอกาส แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ที่มีขายตามซูเปอร์มาเก็ตก็ตาม
พัฒนาการทางสังคม
เด็กในวัยนี้จำนวนมากที่โตพอที่จะเข้าโรงเรียนได้แล้ว ซึ่งเด็กจะรู้จักการแยกจากพ่อแม่ เพราะถึงเวลาที่เขาควรมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเองเพราะเขาโตพอจะรับทราบกฎเกณฑ์ในหมู่คณะ และสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ได้ เช่น กลุ่มเพื่อนที่เล่นด้วยกัน แสดงว่าเด็กเรียนรู้ ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้เด็กจะมีความผูกพันกับบุคคลอื่น เช่น ครูที่โรงเรียนอนุบาล หรือการติดต่อสัมพันธ์ กับเด็กคนอื่นที่อยู่ในวัยเดียวกัน
เด็กจะรู้จักคำว่า "เรา" "ของเรา" และ "ของเธอ" "ของฉัน" และ "ของพวกเขา" เพราะเด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะแยกคนอื่นๆ จากครอบครัวของตน
การเล่น
เด็กวัย 3-4 ขวบ นี้จะสนุกสนานกับการได้ฝึกการทรงตัว เช่น การวิ่งบนทางแคบๆ ทรงตัวบนท่อนไม้ หรือกำแพงเล็กๆ เตี้ยๆ และจะมีพัฒนาการทรงตัวในการเล่นได้ดีขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่สามารถหัดถีบจักรยานได้
ในการเล่น เด็กมักชอบเลียนแบบจากสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวเอง เช่น การหุงหาอาหารด้วยถ้วย จาน ทัพพี และส้อม เหมือนกับที่แม่ทำ หรือใช้ค้อนตอกสิ่งของ เช่นเดียวกับที่พ่อทำ เด็กจะสนุกสนานกับการเอาของที่พ่อแม่ใช้มาเป็นของเล่นของตัวเอง เช่น จะสนุกกับการเล่นโทรศัพท์จริงๆ มากกว่าโทรศัพท์ที่เป็นเพียงของเล่น
เมื่ออยู่ที่โรงเรียน เด็กๆ ก็ยังคงสนุกสนานกับการเล่น "เลียนแบบ" เช่น การปั้นดินน้ำมันให้เป็นขนมชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยมือทั้งสองข้างโดยใช้อุ้งมือด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะนิ้วเท่านั้น
เด็กยังคงฝึกฝนการต่อแท่งไม้รูปต่างๆ เป็นการฝึกสมดุล เช่น พยายามที่จะต่ออะไรขึ้นมาสักอย่าง โดยใช้สมดุลเข้าช่วย มากกว่าที่จะเล่นของที่เป็นชิ้นเป็นอันแต่ทั้งหมดที่เด็กสร้างขึ้นนั้น ก็ขึ้นกับผู้ใหญ่ที่จะให้คำชมเชยและความคิดที่ส่งเสริม
การฉีดวัคซีน
3 ขวบ ฉีดกระตุ้นไทฟอยด์
4-6 ขวบ ฉีดกระตุ้นคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และกินป้องกันโปลิโอ (ครั้งที่ 5)
สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับพ่อแม่
วัย 1-2 ขวบที่ผ่านมาเด็กจะให้ความสนใจตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ครั้นถึงช่วง 3-4 ขวบนี้ เด็กจะหันกลับมาพิจารณาบทบาทของพ่อแม่มากขึ้น เช่น อาจถามคำถามแสดงความอยากรู้ว่า พ่อแม่รักตนมากเพียงใด และเด็กจะค้นพบคำที่มีความหมายแสดงถึงประสบการณ์ที่เด็กเคยได้รับ จากพ่อแม่มาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้บางคนอาจมีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็อาละวาด กระทืบเท้า ขว้างปาข้าวของ ลักษณะพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของเด็ก โดยผ่านทางพฤติกรรมทั้งสิ้น
โดยทั่วไปผู้ใหญ่มักคิดว่าเด็กไม่มีปัญหาอะไรเพราะเขายังไม่รู้จักคิดและยังไม่เข้าใจอะไรเพียงพอ วันๆ ก็ไม่รับผิดชอบไม่รับรู้อะไร ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดไปจากความจริงอย่างมากทีเดียว
เด็กที่อยู่ในวัยกำลังพัฒนา เขาเรียนรู้และรับรู้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เขาจึงมีความรู้สึก และความคิดของเขาตามแบบเด็กๆ และสามารถรับรู้เข้ใจอะไรๆ ได้พอสมควรมากกว่าที่ผู้ใหญ่จะคาดคิด
เมื่อเด็กมีความไม่สบายใจ วิตกกังวล หรือมีความทุกข์เศร้า หรือแม้กระทั่งตื่นเต้นดีใจก็ตาม เด็กจะแสดงออกทางความรู้สึกนึกคิดโดยผ่านทางพฤติกรรมเสมอเพราะเขายังไม่สามารถ ถ่ายทอดความรู้สึกนั้นโดยการบรรยายเป็นคำพูดได้ ฉะนั้น เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนกำลังจะสูญเสียความรัก เช่น การมีน้องใหม่ หรือรู้สึกกังวลว่าตัวกำลังจะถูกทอดทิ้ง หรือเมื่อเด็กมีความกลัวว่าจะมีอันตราย เกิดขึ้นกับเขา เช่น การเจ็บป่วย การอยู่โรงพยาบาล หรือเมื่อผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมีความไม่สบายใจ
จากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา เราจะเห็นเด็กมีพฤติกรรมที่ซนมากขึ้น งอแงติดแม่ รบกวนเรียกร้องต่างๆ ดื้อขึ้น แสดงอารมณ์หงุดหงิดร้องไห้บ่อย หรือเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีต่างๆ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เอาใจใส่เด็ก และสังเกตพฤติกรรมของเด็กแล้ว จะสามารถเข้าใจอารมณ์ จิตใจและความรู้สึกนึกคิดของเด็กโดยไม่ยาก และจะสามารถช่วยเหลือเด็กได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
ที่สำคัญ พ่อแม่จะต้องเข้าใจด้วยว่า โดยธรรมชาติเด็กเล็กมีลักษณะของการนึกถึงตนเองเป็นใหญ่ ยังมีความอดทน รอคอย และการยับยั้งชั่งใจน้อย และยังมีความเข้าใจต่างๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งอาการเหล่านี้จะลดน้อยลง เมื่อเด็กเข้าใจความหมายต่างๆ ได้ดีขึ้น และสามารถใช้คำพูด เป็นเครื่องแสดงออกของความปรารถนา หรือระบายความรู้สึกของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น